บทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science) สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยแพร่ใน mgronline.com
ผมต้องออกมายอมรับว่าตัวเองพยากรณ์พลาดไปมาก เพราะได้เขียนบทความว่า เมื่อมหาวิทยาลัยไทยต้อง lay off อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2561
แต่สิ่งที่ผมคาดไว้กลับเกิดขึ้นไวกว่าที่ผมพยากรณ์ไว้มาก
วันก่อนลูกศิษย์ผมที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนมาเล่าให้ฟังว่าตัวเธอเองต้องรับหน้าที่ไปบอกเพื่อนอาจารย์ว่าต้อง lay off แล้วเพราะไม่มีภาระงานสอน มหาวิทยาลัยต้องเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดใด ๆ
มีมหาวิทยาลัยเอกชนหนึ่งแห่ง ได้ขายให้กลุ่มทุนจีนแล้ว และเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ และเริ่ม lay off อาจารย์ที่สอนได้แต่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษออกไป และเริ่มหาอาจารย์ชาวจีนที่สอนเป็นภาษาจีนได้เข้ามาทำงานแทน
ไม่มีนักเรียนไทยเพียงพอแล้ว เด็กไทยมีอัตราการเกิดต่ำมาก เราเป็นสังคมสูงอายุรุนแรงมาก ถ้าไม่มีนักศึกษาจีนเลยไม่มีทางไปรอดสำหรับมหาวิทยาลัยเอกชน และที่ผ่านมาก็เอาเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องจูงใจให้เด็กมากู้เงินแล้วเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนกันมาก แต่ก็ไม่ยั่งยืนและไปไม่รอด
นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง มีนักเรียนจีนเยอะ เด็กนักเรียนไทยหายไปมากกว่าสองในสาม กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาให้ได้ข้อตกลงเพื่อจะซื้อขายกัน แน่นอนว่าทุนจีนจะเป็นคนซื้ออีกเช่นกัน ยังไม่ได้ราคาที่ลงตัว
ผมได้ยินข่าวมาว่ากลุ่มทุนจีนที่ทำธุรกิจพานักเรียนจีนเข้ามาเรียนในประเทศไทยจะลงทุนซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนเอง และบริหารเอง และหาอาจารย์จีนมาสอนเอง และหานักเรียนจีนมาเรียนด้วยตัวเอง ครบวงจรอย่างยิ่งครับ เข้าใจว่าจะทำหอพักและร้านอาหารรอบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป เรื่องนี้น่าจะมีเค้าความจริง ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด ที่น่ากังวลกว่าคือนักเรียนมาแล้วไม่เรียนกลับมาสนใจแต่ค้าขายรอบมหาวิทยาลัยหรือมาทำธุรกิจอย่างอื่น เรื่องนี้ต่างหากที่ไทยเราโดยเฉพาะตรวจคนเข้าเมืองต้องดำเนินการจริงจังได้แล้ว
เอาเป็นว่า ณ บัดนี้ เริ่มมีการ lay off อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไม่มีภาระการสอนกันแล้วอย่างเป็นเรื่องเป็นราวหลายๆ ที่ครับ ที่แย่สุดคือ รองอธิการบดี หรือ คณบดี ไม่ลงไปพูดกับผู้ถูก lay off เอง แต่ให้หัวหน้าภาควิชาลงไปพูด ทำไมไม่ลงไปบอกเองหนอ
สาขาวิชาที่เสี่ยงจะถูก lay off คือสาขาวิชาที่ไม่มีนักศึกษาเรียนครับได้แก่
เศรษฐศาสตร์ วันก่อนอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยออกมาพูดเองเลย
สถิติคณิตศาสตร์ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์การจัดการระบบสารสนเทศ วิชาพวกนี้ยากไป เด็กไทยไม่อยากเรียน
ปรัชญาประวัติศาสตร์ วิชาพวกนี้จบไปไม่มีงานโดยตรง เด็กไทยก็ไม่อยากเรียน
อาจารย์มหาวิทยาลัยในสาขาวิชาพวกนี้น่าจะไปก่อนครับผม เอาเข้าจริงเห็นอาจารย์ในสาขาวิชาเหล่านี้เริ่มถูก lay off แล้วครับ
ส่วนสาขาวิชาบางสาขากลับขาดแคลนหนักมาก เช่น พยาบาลศาสตร์ ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอ หาอาจารย์พยาบาลก็ยากลำบากเหลือเกิน สาขาแพทย์ก็ขาดแคลนแต่ไม่เท่าพยาบาล เพราะเราเข้าสังคมผู้สูงอายุ การเจ็บป่วยก็มากขึ้น ต้องการคนดูแลมากขึ้น
การปรับตัวเป็นเรื่องจำเป็นมาก โดยเฉพาะการปรับตัวหลังถูก lay off จะไปทำอะไร อายุก็มากแล้ว และอยู่ใน comfort zone ในมหาวิทยาลัยมีอำนาจเหนือนักศึกษา และหลายคนไม่ได้ทำงานจริง ๆ มานานมาก สอนหนังสืออย่างเดียว จนทำอะไรไม่เป็นแล้วก็มีมาก
TCAS รอบนี้ หนักหนามากครับ ระบบห่วย ซับซ้อน และซ้ำซ้อนมากเกินไป เพราะทุกมหาวิทยาลัยแย่งเด็กที่มีจำกัดมาก มีที่นั่งให้เรียนมากกว่าจำนวนเด็กที่อยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัย
วันก่อนได้สนทนากับรองเลขาธิการ สกอ. ได้เล่าให้ผมฟังว่าปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยไทยขอเลิกกิจการไปสองแห่ง และขณะนี้มีการยื่นเรื่องเพื่อขอปิดมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง
มีบางมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดเล็ก ๆ รับเด็กได้สิบกว่าคนทั้งมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ไม่รอด ต้องเลิกกิจการแน่นอน
ปีหน้าน่าจะหนักหนากว่านี้
TCAS ปีนี้ที่มีปัญหามาก ส่วนหนึ่งคือนักเรียนสมัครน้อย และเกิดการชิงเปรต แย่งเด็กกัน
TCAS เที่ยวนี้เอาเข้าจริงคือ 7 รอบ (รวม 3/1 และ 3/2) ใช้เวลานานเกือบครึ่งปี และมีระบบสอบมากกว่า 50 ระบบ
มหาวิทยาลัยแย่งเด็กกันเพราะสถานการณ์เช่นข้างบน
รอดูครับ มีแต่จะเลวร้ายลงไปกว่านี้
พวกมหาวิทยาลัยราชภัฎ ในต่างจังหวัด ที่นักศึกษาลดลงมากก็มีการเลิกจ้างและเลย์ออฟอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยกันมากมาย
ที่ยังอยู่กันไล่ไม่ได้คืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นข้าราชการเท่านั้น ซึ่งก็เหลืออยู่ไม่มากนัก
พวกพนักงานมีสัญญากันไม่กี่ปีตอนนี้จะเริ่มถูกเลย์ออฟครับ ถ้าไม่มีภาระงานสอน และไม่มีภาระงานอย่างอื่น
ใครจะขึ้นมาเป็นคณบดี อธิการบดี รองอธิการบดี โปรดเตรียมตัวมาทำหน้าที่นี้เพื่อความอยู่รอดของหน่วยงานของตัวเอง โปรดเตรียมตัวไปศาลปกครองด้วย ขอให้โชคดีกันนะครับ
มหาวิทยาลัยของรัฐก็อย่าชะล่าใจ
มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะมีวิธีการบริหารที่เด็ดขาดกว่า เช่น สาขาวิชาไหน ไม่มีนักศึกษาเรียนพอแล้วทำให้ขาดทุน ก็ต้องยุบไป ต้องเกลี่ยอาจารย์ไปสอนในสาขาวิชาที่มีนักศึกษา หากปรับตัวไม่ได้หรือไม่มีสาขาวิชาไหนต้องการก็ต้องลาออกไป ไม่ต่อสัญญาจ้าง จะถูกบีบให้ออก เพราะไม่มี value และ ไม่มี contribution อะไรที่มาทดแทนกันได้
หรือไม่ก็ให้โอกาสให้ไปเขียนหลักสูตรมาใหม่ ทำให้มีนักศึกษามาเรียนให้ได้
เวลานี้สถานการณ์มหาวิทยาลัยไทย ย่ำแย่มาก ไม่มีนักศึกษา และอาจารย์กำลังจะถูก lay off มากขึ้นเรื่อยๆ
ประเทศเล็กๆ มีมหาวิทยาลัยมากเกือบสามร้อยแห่ง ยุบๆ ไปบ้าง หรือยุบรวมกันไปบ้าง มากกว่าครึ่งหนึ่งยังเหลือแหล่เกินพอเพียง โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาก็ควรยุบไปบ้างครับ ตำแหน่งครูก็ยุบลงไปรวมกันในโรงเรียนใหญ่กว่าได้ครับ
ที่พูดมานี้ไม่ได้ใจไม้ไส้ระกำอำมหิต หรือไม่เห็นใจครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน เด็กไม่มี เงินไม่มี ก็ไม่มีเงินจะจ้าง สถานการณ์จะบีบให้ผู้บริหารต้องบีบอาจารย์มหาวิทยาลัยลาออกไปครับ
ดังนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัย ควรมีอาชีพอื่นหรือแหล่งรายได้อื่นสำรองได้แล้วครับ ที่จะเอาทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกก็คิดกันให้ดี ๆ กลับมาอาจจะไม่มีนักศึกษาให้สอน แล้วต้องไปทำงานธุรการก็ได้ ใครจะไปรู้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ
สวัสดีอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย นี่คือความจริงอันเจ็บปวดที่ท่านกำลังต้องเผชิญ
แต่ที่ผมห่วงยิ่งกว่าคือเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีจำนวนมากยิ่งกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย และมีวุฒิการศึกษาน้อยกว่าอาจารย์ ซึ่งน่าจะถูกเลย์ออฟไปด้วย จะไปอยู่ที่ไหน จะไปทำงานอะไรหลังถูก lay off นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เพราะโอกาสน่าจะน้อยกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก ก็ต้องเตรียมตัวกันให้ดีครับ