บทความที่ได้รับความนิยม
วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
ไวรัสไข้ซิการักษามะเร็งสมองได้
คำพูดว่าเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงอีกครั้งในกรณีของไวรัสไข้ซิกา การระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้สร้างวิตกกับประเทศต่าง ๆ รวมท้ั้งไทยอย่างมาก แต่ขณะนี้นักวิจัยกลับพบประโยชน์ของไวรัสไข้ซิกา ในการรักษาโรคมะเร็งสมองชนิดรุนแรงแล้ว
ทีมนักวิจัยอเมริกันจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตันและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตซานดิเอโกทำการทดลองขั้นต้นพบว่า ไวรัสไข้ซิกาที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมสามารถเลือกโจมตีทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งสมองได้ โดยไม่สร้างความเสียหายแก่เซลล์ร่างกายอื่น ๆ
ผลการทดลองดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ในวารสาร Journal of Experimental Medicine โดยระบุว่าประสบความสำเร็จในการใช้ไวรัสไข้ซิกาที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมให้ความสามารถในการก่อโรคลดลง เข้าทำลายเซลล์มะเร็งสมองชนิดไกลโอบลาสโทมา (Glioblastoma) ซึ่งเป็นมะเร็งสมองชนิดรักษายากได้สำเร็จในหนูทดลองและในเนื้อเยื่อสมองของมนุษย์ที่ได้รับบริจาคมา โดยไม่สร้างความเสียหายต่อเซลล์ร่างกายที่ยังแข็งแรงอื่นๆ
การรักษามะเร็งสมองด้วยไวรัสไข้ซิกาจำเป็นจะต้องมีการฉีดเชื้อลงในตำแหน่งจำเพาะ
นพ.ไมเคิล ไดมอนด์ หนึ่งในทีมนักวิจัยบอกว่า ธรรมชาติของไวรัสไข้ซิกานั้นมักเข้าโจมตีทำลายเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ในสมองของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกเกิดมามีภาวะศีรษะเล็กผิดปกติและมีความบกพร่องทางสติปัญญา แต่ในกรณีของผู้ใหญ่นั้นจะไม่มีสเต็มเซลล์ในสมองมากเท่าทารก ทำให้ไวรัสเข้าโจมตีได้แต่สเต็มเซลล์ของมะเร็งซึ่งเป็นตัวการทำให้มะเร็งชนิดรุนแรงแผ่ขยายเติบโตไปทั่วสมองอย่างรวดเร็ว จนการรักษาด้วยวิธีปกติเช่นวิธีรังสีรักษา เคมีบำบัด รวมทั้งการผ่าตัดไม่ได้ผล
ทารกที่ติดเชื้อไวรัสไข้ซิกาในครรภ์ จะเกิดมามีภาวะศีรษะเล็ก (Microcephaly) ทีมนักวิจัยมีแผนจะทำการทดลองในมนุษย์ภายใน 1 ปีครึ่งนับจากนี้ และเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถฉีดไวรัสไข้ซิกาเข้าร่างกายคนไข้ขณะผ่าตัดนำเนื้อร้ายออก เพื่อรักษามะเร็งสมองที่ลุกลามให้ได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนแบบถอนรากถอนโคน โดยไม่กลับมาเกิดเนื้อร้ายขึ้นอีกในอนาคต
เรื่องน่ารู้ของไวรัสไข้ซิกา
- สามารถติดต่อกันได้หากถูกยุงที่เป็นพาหะของเชื้อโรคกัด
- คนทั่วไปที่ติดเชื้อจะมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย แต่เป็นอันตรายอย่างมากกับทารกในครรภ์
- ทารกที่ติดเชื้อไวรัสไข้ซิกาในครรภ์ จะเกิดมามีภาวะศีรษะเล็ก (microcephaly) และมีพัฒนาการทางสมองช้า
- ไวรัสไข้ซิกาเป็นสาเหตุของความผิดปกติรุนแรงในทารกแรกเกิดจำนวนมากในเกือบ 30 ประเทศ
- แม้การแพร่ระบาดของไวรัสไข้ซิกาจะไม่ได้เป็นประเด็นฉุกเฉินในระดับนานาชาติอีกต่อไป แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่ายังคงจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)